วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

แฮนด์บอล

แฮนด์บอล




ประวัติแฮนด์บอล 
แฮนด์บอล (Handball) เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน ในราวปลายศตวรรษที่ 19 โดยครูพลศึกษาคนหนึ่งชื่อ Konrad Koch ได้ริเริ่มและแนะนำกีฬาประเภทนี้ออกมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เกมแฮนด์บอลก็ยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2447 แฮนด์บอลจึงได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้นในภาคพื้นยุโรป มีการกำหนดระเบียบและกติกาการเล่นโดยอาศัยกติกาของฟุตบอลเป็นหลัก นักพลศึกษาชาวอเมริกากล่าวว่า กีฬาแฮนด์บอลน่าจะเป็นเกมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุด เพราะมนุษย์นิยมใช้มือกับลูกบอลขว้างมาแต่โบราณแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจะเดาได้ว่าเกมนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลในปัจจุบันได้อย่างไร 


ประเทศยุโรปในฤดูหนาวไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ จึงใช้ห้องพลศึกษาดัดแปลงเล่นกีฬาฟุตบอลด้วยมือ ตอนแรกใช้ผู้เล่น 11 คนเท่ากับฟุตบอล แต่ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบ จึงลดจำนวนผู้เล่นเหลือข้างละ 7 คน จึงกลายมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลแบบการเล่นในปัจจุบัน ในช่วงนั้นแฮนด์บอลมิได้ถือว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเอง แต่คณะกรรมการที่ก่อตั้งและดำเนินการก็มาจากสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างชาติ (The International Amateur Athletic Federation) มีชื่อย่อๆ ว่า I.A.A.F. คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดดำเนินการต่างๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้น 


หลังจากปี พ.ศ. 2447 กีฬาแฮนด์บอลซึ่งอยู่ในความดูแลของ I.A.A.F. ก็มีความมั่นคงขึ้น และหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และมีการจัดบรรจุในรายการกิจกรรมการกีฬาของประเทศนั้นๆ ด้วย ตลอดจนได้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น 


ในปี พ.ศ. 2469 I.A.A.F. ได้ตั้งคณะกรรมการกีฬาแฮนด์บอลขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ ในเครือสมาชิกของกีฬาประเภทนี้มีการประชุมตกลงเรื่องกติกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กีฬาแฮนด์บอลได้ตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยเอกเทศ และมีการริเริ่มตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ประเทศกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ The International amateur Handball Federation ก็ได้จัดตั้งขึ้น และบุคคลที่มีความสำคัญของการกีฬาสหพันธ์คือ Every Brundage ประธานของ I.O.C. ได้เป็นสมาชิกขององค์การใหม่นี้ด้วย 


ในปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้มีการสาธิตขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮนด์บอลก็ได้บรรจุเข้าเป็นรายการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ โดยการยอมรับของ I.O.C. หลังจากการประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ก็ได้เพิ่มเป็น 25 ประเทศในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน หรือที่เรียกว่า Nazi Olympic 


สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับการกีฬาเป็นอย่างมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่โคเปนเฮเกน เพื่อที่จะฟื้นฟูกีฬาแฮนด์บอลขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 จึงได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลขึ้นใหม่ และยอมรับทักษะการเล่นสมัยก่อน ซึ่งทำให้ลักษณะของการเล่นและกติกาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยกติกาของฟุตบอลและบาสเกตบอลมาผสมกัน 


สมัยก่อนนิยมการเล่นแบบ 11 คน เช่นเดียวกับฟุตบอล แต่ในยุโรปตอนเหนือได้มีการเล่นแบบ 7 คน และเล่นกันในร่ม ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมาการเล่นแฮนด์บอลแบบ 7 คน ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ทำให้การเล่นแบบ 11 คนได้หายไป ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็ยอมรับการเล่นแบบ 7 คน และจากผลของการวิจัยต่างๆ ปรากฏว่าแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเร็วเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เหตุที่แฮนด์บอล 7 คนนิยมเล่นในร่มก็อาจเป็นเพราะเนื้อที่สนามน้อย สามารถเล่นในที่แคบๆ ได้ และอีกอย่างก็คือสภาพของดินฟ้าอากาศในฤดูหนาวของทวีปยุโรปนั้นจะปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ดังนั้นแฮนด์บอลจึงไม่สามารถเล่นในสนามกลางแจ้งได้ ด้วยเหตุผลนี้แฮนด์บอลจึงเป็นที่นิยมเล่นกันในร่มหรือโรงยิมเนเซียมแทน 


จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาของโลกอย่างหนึ่งเพราะการแข่งขันกีฬาสำคัญระหว่างชาติก็มีการแข่งแฮนด์บอลด้วย เช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2525 ก็ได้มีการแข่งขันแฮนด์บอล หลังจากที่บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้ว และในปี พ.ศ. 2516 ได้บรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตกด้วย 




ประวัติแฮนด์บอลในประเทศไทย 
กีฬาแฮนด์บอลได้นำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 โดยอาจารย์กอง วิสุทธารมย์ อดีตอธิบดีกรมพลศึกษา ในสมัยนั้นแฮนด์บอลยังนิยมการเล่นแบบ 11 คนอยู่ แต่คนไทยเราไม่ค่อยจะนิยมเล่นกีฬาประเภทนี้กันเลยยกไป ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยสามารถเล่นฟุตบอลได้ตลอดฤดูกาล กีฬาแฮนด์บอลจึงไม่เป็นที่นิยมเล่นดังกล่าว 


ต่อมาในปี พ.ศ.2500 อาจารย์ชนิต คงมนต์ ได้ไปดูงานด้านพลศึกษาในประเทศเดนมาร์ก และสวีเดน ได้นำกีฬาแฮนด์บอลนี้มาเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มบรรจุเข้าสอนในโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย และวิทยาลัยพลศึกษาก่อนที่อื่นเพื่อเป็นการทดลอง และต่อมาก็ได้เผยแพร่ไปตามโรงเรียนต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังไม่กว้างขวางนัก 


ปัจจุบันวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศได้บรรจุวิชาแฮนด์บอลไว้ในหลักสูตร ตลอดจนหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2518 ได้กำหนดเป็นวิชาบังคับ จึงนับได้ว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างกว้างขวางในหมู่นักเรียนวิทยาลัยพลศึกษา และประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น 


แฮนด์บอลได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาของวิทยาลัยพลศึกษาทั่วประเทศที่กรมพลศึกษาเป็นเจ้าภาพ เมื่อ พ.ศ. 2524 โดยการใช้กติกาการแข่งขันสากลฝ่ายละ 7 คน ปัจจุบัน นายปรีดา รอดโพธิ์ทอง อธิบดีกรมพลศึกษา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า กีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ และสภาพของคนไทย จึงได้ส่งเสริมและให้มีการฟื้นฟูกีฬาประเภทนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยให้กองกีฬากรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจัดให้มีการอบรมผู้ฝึกสอน อบรมผู้ตัดสิน พร้อมทั้งจัดให้มีการแข่งขันกีฬาแฮนด์บอลในกีฬากรมพลศึกษาเป็นประจำทุกปี 





แนะนำอุปกรณ์แฮนด์บอล 

* สนามแข่ง 
มีความยาว 40 เมตรและกว้าง 20 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวเรียกว่า เส้นข้าง ด้านสั้นเรียกว่า เส้นประตู ควรมีพื้นที่ข้างสนามไม่น้อยกว่า 1 เมตร ด้านเส้นหลังประตูไม่น้อยกว่า 2 เมตร 
* ประตู 

มีความกว้าง 3 เมตร สูง 2 เมตร มีตาข่ายขึงติดไว้มีลักษณะหยุ่น เมื่อลูกบอลขว้างไปถูกจะไม่กระดอนกลับออกมาอย่างรวดเร็วในสนามมีเส้นส่งกินเปล่า เส้นเขตประตู เส้นเขตผู้รักษาประตู เส้นเปลี่ยนตัวและเส้น 7 เมตร เส้นประตูอยู่ระหว่างเสาประตูทั้ง 2 ข้าง 
* ลูกบอล 

เป็นรูปทรงกลม ไม่สะท้อนแสงหรือลื่น ลูกบอลของนักกีฬาชายมีเส้นรอบวง 58-60 ซม. น้ำหนัก 425-475 กรัม จะมีลูกบอล 2 ลูก ทุกครั้งที่มีการแข่งขัน ส่วนลูกบอลของนักกีฬาหญิงมีเส้นรอบวง 54-56 ซม. น้ำหนัก 325-400 กรัม จะมีลูกบอล 2 ลูกทุกครั้งที่มีการแข่งขัน 




กติกาแฮนด์บอล 
การแข่งขันแฮนด์บอล ทีมชายและทีมหญิงอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 30 นาที พัก 10 นาที ถ้าครึ่งแรกเล่นเกินเวลาที่กำหนดไว้ในครึ่งหลังก็จะต้องหักเวลาที่เกินออกไป แล้วเล่นจนเต็มเวลา 30 นาทีของครึ่งหลัง ถ้าผลเสมอกันในช่วงเวลาปกติ ให้เพิ่มเวลาพิเศษ หลังจากพักแล้ว 5 นาที เพื่อเสี่ยงเลือกส่งหรือเลือกแดนสำหรับเวลาในการต่อเวลาพิเศษ โดยช่วงเวลาที่เพิ่มจะแบ่งเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 5 นาที (เปลี่ยนแดนกันในครึ่ง โดยไม่มีเวลพัก) ถ้าผลยังเสมอกันอีก ก็ให้ต่อเวลาพิเศษในช่วงที่ 2 โดยให้เสี่ยงเลือกส่งหรือเลือกแดน และการแข่งขันจะไม่มีการพัก (ถ้าผลจากการต่อเวลาพิเศษยังเสมอกันอยู่ ให้ประยุกต์กติกานี้เพื่อหาผู้ชนะ) 
*ทีมที่เข้าแข่งขัน 

ต้องส่งรายชื่อผู้เล่นทีมละ 12 คนลง (ผู้เล่น 6 คน ผู้รักษาประตู 1 คน) ที่เหลือเป็นผู้เล่นตัวสำรอง ขณะเริ่มแข่งขันทีมหนึ่งจะต้องมีผู้เล่นไม่น้อยกว่า 5 คน เมื่อแข่งไปจะมีผู้เล่นน้อยกว่า 5 คนก็ได้ การเปลี่ยนตัวเข้าออกได้ตลอดเวลา เปลี่ยนออกมาแล้วก็เปลี่ยนกลับลงไปเล่นได้อีก โดยไม่ต้องบอกผู้บันทึกและผู้จับเวลา แต่จะต้องรอให้ผู้เล่นในสนามออกจากสนามก่อน แล้วก็จะต้องเข้าออกตรงบริเวณเส้นเปลี่ยนตัวของฝ่ายตนเองเท่านั้น ถ้ามีการเข้ามาเกินผู้เล่นคนนั้นจะถูกสั่งพัก 2 นาที และผู้เล่นในทีมนั้นจะต้องออกจากสนาม 1 คน ให้เหลือ 6 คน อยู่ 2 นาทีแล้วแต่ผู้ตัดสินจะกำหนดให้ใครออก 
* ผู้รักษาประตู 

สามารถออกไปเล่นในสนามได้ และสามารถที่จะเปลี่ยนเป็นผู้รักษาประตูได้ตลอดเวลาแต่จะต้องเปลี่ยนเสื้อกันด้วย เคลื่อนที่ไปในเขตประตูพร้อมกับลูกบอลได้โดยไม่มีขีดจำกัดแต่จะพาลูกออกไปนอกเขตประตูไม่ได้ ถ้าออกมานอกเขตแล้วจะกลับเข้าเขตประตูพร้อมกับลูกบอลไม่ได้ ให้นับเป็นประตู ถ้าผู้เล่นเจตนาส่งลูกบอลกลับเข้าประตูของตนก็ให้นับประตูนั้นด้วย 
* การเล่นลูกบอล 

1. อนุญาตให้ผู้เล่น ขว้าง จับ หยุด ผลัก หรือตีลูกบอลด้วยมีทั้งสองได้ รวมทั้งแขน ศีรษะ ลำตัว ต้นขา เข่า จับลูกบอลไว้ในมือเดียวหรือ 2 มือ จะทำได้ไม่เกิน 3 วินาที หรือก้าวได้ไม่เกิน 3 ก้าวการพิจารณาก้าว คือ 
*ผู้เล่นยืนด้วยเท้าทั้ง 2 ข้างบนพื้น แล้วยกเท้าหนึ่งวางลงหรือเคลื่อนไปที่อื่น 
*ผู้เล่นสัมผัสพื้นเพียงเท้าเดียว จับลูกบอลแล้วใช้เท้าข้างหนึ่งสัมผัสพื้น 
*ก้าวขากระโดดลงพื้นด้วยเท้าเดียว และกระโจนด้วยเท้าเดิมหรือสัมผัสพื้นด้วยเท้าอื่น 
*กระโดดลงสัมผัสพื้นด้วยเท้าทั้ 2 พร้อมกัน แล้วยกเท้าข้างหนึ่งแล้ววางเท้านั้นลง หรือเคลื่อนเท้าหนึ่งไปยังที่อื่น (ให้ลากเท้าอีกข้างตามได้) 
*ในขณะยืนหรือวิ่ง กระดอนลูกครั้งหนึ่งและจับด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ 
*การเลี้ยงลูกบอล กระดอนซ้ำด้วยมือเดียวหรือกลิ้งบอล หลังจากนั้นจึงจับลูกบอลหรือเก็บลูกบอลขึ้นมาด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ 
*ขณะที่จับลูกบอลด้วยมือเดียวหรือ 2 มือนั้น ทำได้ภายใน 3 วินาที หรือจากก้าวไม่เกิน 3 ก้าว การกระดอนลูกสามารถใช้ส่วนต่างๆ ได้ เมื่อลูกบอลถูกผู้เล่นคนอื่นหรือถูกประตูผู้เล่นสามารถที่จะปัด กระดอน และจับลูกบอลได้อีก 
*ส่งบอลจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง 
2. เล่นลูกบอลในขณะที่กำลังคุกเข่า นั่ง หรือนอนอยู่บนพื้นไม่อนุญาตให้ผู้เล่นกระทำดังนี้ 
*ถูกลูกบอลมากกว่า 1 ครั้ง นอกจากลูกบอลไปถูกผู้เล่นอื่น หรือเสาประตู 
*การพยายามครองลูกบอลพลาด (Fumbling) จะไม่ถูกลงโทษ 
หมายเหตุ ลูกบอลพลาด หมายถึงการที่ผู้เล่นพยายามที่จะจับหรือหยุดลูกบอล แต่พลาดจากการครอบครอง 
*ถูกลูกบอลด้วยเท้าหรือขาซึ่งอยู่ต่ำกว่าเข่าลงไปยกเว้นในกรณีที่คู่ต่อสู้ได้ขว้างลูกบอลมาถูกผู้เล่น แต่อย่างไรก็ตาม การทำผิดอย่างนี้จะไม่ถูกลงโทษถ้าไม่เป็นการทำให้เกิดการได้เปรียบกับผู้เล่นหรือทีมของเขา 
*ทิ้งตัวลงเล่นในขณะที่ลูกบอลวางอยู่บนพื้นหรือกำลังกลิ้งอยู่ แต่กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำไปใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่อยู่ในเขตประตูของตัวเอง 
*เจตนาทำลูกบอลออกนอกเส้นข้างหรือเส้นประตู กติกาข้อนี้จะต้องไม่นำไปใช้กับผู้รักษาประตูในขณะที่พยายามที่จะครอบครองลูกบอลพลาดภายในเขตประตู และลูกบอลได้ออกไปทางเส้นประตูโดยตรง (ส่งจากประตู) 
*ครอบครองลูกบอลอยู่ภายในทีม โดยไม่พยายามที่จะรุกหรือทำประตู การเล่นในลักษณะนี้จะถูกลงโทษโดยให้ส่งลูกกินเปล่าจากจุดที่ลูกได้หยุดลง 
*การเล่นจะดำเนินต่อไปถ้าลูกบอลถูกผู้ตัดสินในสนาม 
* การนับประตู 

จะนับเป็นประตู เมื่อลูกบอลทั้งลูกได้ผ่านเข้าไปในเส้นประตูโดยผู้ทำประตูและเพื่อนร่วมทีมไม่ทำผิดกติกาก่อน ถ้าลูกบอลจะเข้าประตูแน่นอนแต่บุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในสนามมาป้องกันไม่ให้ลูกบอลเข้าประตู ผู้ตัดสินพิจารณาให้เป็นประตู เมื่อผู้ตัดสินเป่านกหวีดให้ส่งเริ่มเล่นต่อไปแล้ว ประตูที่ได้จะเปลี่ยนแปลไม่ได้ ผู้ที่ทำประตูได้มากกว่าถือว่าเป็นผู้ขนะการแข่งขัน 
หมายเหตุ ถ้าทั้ง 2 ทีมได้คะแนนเสมอกัน ให้ถือว่าเสมอกัน 
* การส่งเริ่มเล่น 

จะทำที่จุดกึ่งกลางสนามในในทิศทางใดก็ได้ต้องทำภายใน 3 วินาที ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องอยู่ห่างจากผู้ส่งเริ่มเล่นอย่างน้อย 3 เมตร (ยกเว้นผู้กระโดด) 
* การส่งลูกเข้าเล่น 

ต้องส่ง ณ บริเวณที่ลูกบอลออกโดยผู้ส่งลูกเข้าเล่นจะต้องมีเท้าข้างหนึ่งอยู่บนเส้นข้างจนกว่าลูกจะหลุดมือแล้วผู้ตัดสินไม่ต้องใช้สัญญาณนกหวีด 
* ผู้รักษาประตูส่งลูก 

จะต้องส่งลูกบอลข้ามเส้นเขตประตูไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน 
* การส่งลูกกินเปล่า 

1. การส่งลูกกินเปล่าจะกระทำในกรณีดังนี้ 
-การเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้อง หรือเข้าสู้สนามผิดกติกา 
-ผู้รักษาประตูทำผิดกติกา 
-ผู้เล่นในสนามทำผิดกติกาในเขตประตู 
-เล่นลูกบอลโดยไม่ถูกต้อง 
-เจตนาทำให้ลูกบอลออกนอกเส้นประตูหรือเส้นข้าง 
-ถ่วงเวลาในการเล่น 
-การฟาวล์เนื่องจากการเข้าเล่นกับคู่ต่อสู้ 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเริ่มเล่น 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งเข้าเล่น 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งจากประตู 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการส่งลูกกินเปล่า 
-การหยุดเล่นโดยที่ไม่มีการทำผิดกติกา 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการยิงประตูโทษ 
-การทำผิดกติกาเกี่ยวกับการโยนลูกของผู้ตัดสิน 
-ทำผิดระเบียบเกี่ยวกับการส่ง 
-การกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา 
-การรุกราน 
2. ส่ง ณ จุดที่ผิดกติกาโดยไม่ต้องมีสัญญาณนกหวีดจากผู้ตัดสิน ถ้าฝ่ายรุกได้ส่งลูกกินเปล่า และจุดที่ผิดกติกาอยู่ระหว่างเส้นเขตประตูกับเส้นส่งลูกกินเปล่าของฝ่ายรับ การส่งนี้ให้ส่ง ณ จุดที่ใกล้ที่สุดกับจุดที่ผิดกติกานอกเส้นส่งลูกกินเปล่า 
3. ในขณะที่ผู้เล่นฝ่ายรุกอยู่ในตำแหน่งพร้อมลูกบอลแล้ว เขาจะเลี้ยงลูกบอลหรือวางลูกบอลลงแล้วเก็บขึ้นมาอีกไม่ได้ 
4. ผู้เล่นฝ่ายรุกจะต้องไม่ถูกหรือข้ามเส้นส่งลูกกินเปล่าของฝ่ายตรงข้ามในขณะที่ทำการส่งลูกกินเปล่า ผู้ตัดสินจะต้องจัดตำแหน่งผู้เล่นฝ่ายรุกที่เข้าไปอยู่ในเส้นส่งลูกกินเปล่าให้ถูกต้องจากนั้นผู้ตัดสินจึงให้สัญญาณนกหวีดเพื่อส่งลูกกินเปล่า 
5. ในขณะส่งลูกกินเปล่า ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะต้องอยู่ห่างจากจุดส่งลูกกินเปล่าอย่างน้อย 3 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นฝ่ายรับอาจยืนใกล้จุดนอกเส้นเขตประตูได้ ถ้าการส่งลูกกินเปล่าได้ทำการส่งบนเส้นส่งลูกกินเปล่า 
6. ผู้ตัดสินจะต้องไม่ให้มีการส่งลูกกินเปล่าในขณะที่ฝ่ายป้องกันทำผิดกติกา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายรุกเกิดการเสียเปรียบ ถ้าการทำผิดกติกานั้นเป็นเหตุให้ฝ่ายรุกเสียการครอบครองลูกบอล จะต้องให้ฝ่ายรุกได้ส่งลูกกินเปล่าเป็นอย่างน้อยถ้ามีการทำผิดกติกา แล้วฝ่ายรุกยังคงครอบครองลูกบอลได้อีกครั้ง จะต้องไม่ให้มีการส่งลูกกินเปล่า 
7. ในกรณีที่การเล่นได้หยุดลงโดยไม่มีฝ่ายใดทำผิดกติกา และมีทีมหนึ่งครอบครองลูกบอลอยู่ การเล่นจะเริ่มใหม่โดยทีมที่ครอบครองลูกบอล ณ จุดที่การเล่นได้หยุดลง โดยการส่งลูกกินเปล่าหรือการส่งตามข้อกำหนด และผู้ตัดสินต้องให้สัญญาณนกหวีด 
8. ในขณะที่มีการตัดสิน ฝ่ายที่กำลังครอบครองลูกบอลอยู่จะต้องวางลูกบอลลงใกล้ๆ กับผู้เล่นนั้นทันที 
* การยิงลูกโทษ 

-ฝ่ายรับจะต้องอยู่ห่างจากจุดยิง ไม่น้อยกว่า 3 เมตร -ถ้าในขณะที่มีการยิงลูกโทษ ผู้รักษาประตูแตะหรือข้ามเส้นเขตผู้รักษาประตู (เส้น 4 เมตร) ก่อนที่ลูกจะหลุดจากมือผู้ยิงลูกโทษ ให้ทำการยิงประตูลูกโทษใหม่ (ถ้าลูกนั้นไม่ได้ประตู) 
* การโยนลูกโดยผู้ตัดสิน 

เมื่อมีการทำผิดกติกาพร้อมกัน โดยผู้เล่นทั้ง 2 ทีม หรือหยุดการเล่นโดยไม่มีฝ่ายใดทำ กระทำที่จุดกึ่งกลางสนาม 
* การสั่งพัก 2 นาที 

จะส่งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้องหรือกระทำผิดซ้ำ ฯลฯ ถ้าคนเดิมถูกสั่งพักครั้งที่ 3 คนนั้นจะถูกตัดสินออกจากการแข่งขัน ในการเตือนจะให้ใบเหลืองเพื่อแสดงให้ผู้บันทึกทราบ และให้ใบแดงในกรณีที่ทำผิดรุนแรงเกินกว่าเหตุอื่นๆ อาจจะให้แก่ผู้เล่น 
* ผู้ตัดสิน 2 คน 

สวมชุดสีดำ ถ้าความเห็นขัดกัน ยึดผู้ตัดสินที่อยู่ในสนามเป็นหลัก (ผู้ตัดสินที่มีชื่อแรก) และมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรวบรวมใบบันทึกที่สมบูรณ์ถูกต้อง ผู้ตัดสินสามารถยุติการแข่งขันได้ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการแข่งขันต่อไปก่อนที่จะมีการตัดสินให้ยุติการแข่งขัน 
* การเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม 

อนุญาตให้กระทำดังต่อไปนี้ 
*ใช้มือหรือแขนเพื่อประโยชน์ในการครอบครองลูกบอล 
*แบมือเล่นลูกบอลจากคู่ต่อสู้ได้ทุกทิศทาง 
*ใช้ลำตัวบังคับคู่ต่อสู้ ถ้าคู่ต่อสู้ไม่ได้เป็นฝ่ายครอบครองลูกบอล 
ไม่อนุญาตให้กระทำดังต่อไปนี้ 
*กีดกันคู่ต่อสู้ด้วยมือ แขน หรือขา 
*ผลักคู่ต่อสู้ให้เข้าไปอยู่ในเขตประตู 
*ดึงหรือตีลูกบอลด้วยมือเดียวหรือ 2 มือให้ออกจากมือคู่ต่อสู้ที่ครอบครองลูกบอลอยู่ 
*ใช้กำปั้นทุบลูกบอลจากคู่ต่อสู้ 
*ใช้ลูกบอลทำให้คู่ต่อสู้เกิดอันตราย 
*ทำให้ผู้รักษาประตูเกิดอันตราย 
*ดึงคู่ต่อสู้ด้วยมือเดียวหรือ 2 มือ หรือผลักคู่ต่อสู้ 
*ทำฟาวล์เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม จะถูกลงโทษโดยการส่งลูกกินเปล่า หรือให้ยิงลูกโทษ 
*การทำฟาวล์เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม การกระทำฟาวล์ในลักษณะดังกล่าว เว้นแต่การเข้าหาคู่ต่อสู้โดยที่มิได้ครอบครองลูกบอลจะถูกลงโทษซ้ำให้พิจารณาถึงการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วย 
*การทำฟาวล์ที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการเข้าเล่นกับฝ่ายตรงข้าม หรือลักษณะการกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬาจะต้องถูกลงโทษโดยการตัดสิทธิ์ผู้เล่นคนนั้น 
*ผู้เล่นที่ทำร้ายผู้อื่นในสนามจะถูกไล่ออก 
*การลงโทษ 

1. การเตือนโดยไม่มีการบันทึก 
2. การเตือนที่ผู้ตัดสินแจ้งให้กับผู้จับเวลาและผู้บันทึกทราบ โดยการใช้บัตรสีเหลือง หมายเหตุ การเตือนทั้งทีมไม่ควรเกิน 3 ครั้ง ผู้เล่นคนอื่นๆ ทำผิดอีกจะไม่มีการเตือน แต่จะให้เป็นการสั่งพักเท่านั้น 
3. การสั่งพัก จะต้องแสดงสัญญาณมือให้ผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บันทึก ผู้จับเวลา ได้เห็นอย่างชัดเจน (ชูมือข้างหนึ่งขึ้นและเหยียดนิ้วขึ้น 2 นิ้ว) การสั่งพักโดยปกติหยุดพัก 2 นาที แต่ถ้าเป็นผู้เล่นคนเดิมถูกสั่งพักเป็นครั้งที่ 3 ผู้เล่นคนนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน 
4. การตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน 
-ผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์เกี่ยวข้องเข้าไปในสนาม 
-การทำผิดอย่างร้ายแรงที่เกี่ยวกับการเข้าเล่นกับคู่ต่อสู้ 
-กระทำโดยไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา 
-ถูกสั่งพักครั้งที่ 3 
-ก้าวร้าวเจ้าหน้าที่หรือผู้เล่นนอกสนามแข่งขัน 
หมายเหตุ การตัดสิทธิ์จากการแข่งขันผู้เล่นในสนาม จะต้องทำคู่ไปกับการสั่งพัก 5. การไล่ออกจากการแข่งขัน เมื่อมีการทำร้ายกันในสนาม 
หมายเหตุ การทำร้าย คือการรุกราน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำต่อร่างกายผู้อื่น เช่น ผู้เล่น ผู้ตัดสิน ผู้บันทึก ผู้จับเวลา เจ้าหน้าที่ หรือผู้ชม (การไล่ออกจากสนามผู้ตัดสินจะใช้สัญญาณ ยกมือไขว้เหนือศีรษะ) 
ผู้เล่นอื่นที่ถูกไล่ออกจากสนามจะไม่อนุญาตให้ผู้เล่นอื่นเข้าแทน ผู้ถูกไล่ออกจะต้องออกจากสนามแข่งขัน และนอกบริเวณที่นั่งผู้เล่นสำรอง 
6. ถ้าผู้รักษาประตูถูกสั่งพัก ตัดสิทธิ์ หรือไล่ออก จะอนุญาตให้เปลี่ยนตัวผู้รักษาประตูสำรองเข้าแทนได้ ในกรณีนี้ผู้เล่นในสนามจะต้องออกจากสนามแทน 
7. การกระทำที่ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา หรือการก้าวร้าว จะพิจารณาโทษดังนี้ 
-การตัดสิทธิ์ก่อนการแข่งขัน ผู้เล่นในทีมนั้นจะได้เล่นโดยมีจำนวนผู้เล่นเต็ม 12 คน 
-การตัดสิทธิ์ระหว่างการแข่งขัน จะมีการเตือนก่อน และถ้าทำการก้าวร้าวซ้ำ จะถูกพิจารณาลงโทษตัดสิทธิ์การแข่งขัน 
-การตัดสิทธิ์หลังการแข่งขัน มีการเขียนรายงานให้ทราบ
ขอบคุณhttp://202.129.0.133/createweb/00000/00000-760.html